วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วันรัฐธรรมนูญ

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ

๑๐ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

ความเป็นมาวันรัฐธรรมนูญ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทยเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมาเป็นเวลา ๗๐๐ ปีเศษ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

* พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

* หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ

* อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ

วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ

๑. พระมหากษัตริย์

๒. สภาผู้แทนราษฎร

๓. คณะกรรมการราษฎร

๔. ศาล

ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

กระทั่งถึง วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน

แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้

หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้นได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

 

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนด วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

 ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ

วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ที่ถือเป็นฉบับถาวร เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบรัฐสภา ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน โดยพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลายฉบับ มีการแก้ไขร่างกฏหมายหลายรอบ เพื่อให้เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้นในวันรัฐธรรมนูญจึงเป็นวันหยุดราชการ ที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก ให้แก่ประเทศไทย

 

รัฐธรรมนูญคืออะไร

รัฐธรรมนูญ ภาษาอังกฤษคือ Constitution หมายถึง กฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ/รัฐ และต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร หลายๆประเทศของโลกที่ปกครองด้วยประบอบประชาธิปไตย มักมีการใฃ้รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด เพื่อเป็นหลักและแนวทางในการบริหารประเทศ

 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก เกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 เป็นสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางและพระสงฆ์ มีชื่อว่า “มหากฏบัตร” โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการจัดการองค์กร และการบริหารอำนาจ

 คำว่า Constitution ในภาษาอังกฤษนั้น แปลตรงตัวว่า “การสถาปนา”

 รัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก

ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับจริงในปัจจุบัน หลังจากระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง ประเทศไทยได้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ซึ่งร่างโดยคณะราษฎร บังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก่อนจะมีการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วจึงเปลี่ยนจากฉบับชั่วคราว เป็นฉบับถาวร ในปัจจุบัน

กิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ

มีพิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะโดยพร้อมเพรียงกัน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลายๆ จุดสำคัญมีการประดับธงชาติ ซึ่งโดยปกติจะเป็นการประดับธงชาติ ต่อจากวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคมของทุกปี

ข้อมูลจาก : https://www.sanook.com/campus/944520/

                : http://event.sanook.com/day/constitution/


วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ประเพณีวันลอยกระทง

วันลอยกระทง 2564 (Loy Krathong Festival)



ลอยกระทง เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆ กัน ในปีนี้ วันลอยกระทง ตรงกับ วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564

 

ประเพณีลอยกระทง (Loy Krathong Festival) มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ก็มีการลอยกระทงคล้ายๆ กับบ้านเรา จะต่างกันบ้าง ก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทง ก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมมาบอกเล่าให้ทราบกันดังต่อไปนี้

 

ทำไมถึงลอยกระทง

การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่ง ก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา

 

วัตถุประสงค์ของวันลอยกระทง

นอกจากนี้ ลอยกระทง ก็ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทง เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย

พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทง อาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้ว จึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่า ได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษ และขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดี ที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง

ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อน เรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป

ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว

ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอก ของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำ ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลาย ตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศพระสนมเอก ก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษ ที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็น ก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน" ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน

 

ตำนานและความเชื่อวันลอยกระทง

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้

 

เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง

                กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐาน และบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล

 

พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาค ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอม และดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำ เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆ มาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทง ตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

 

ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐาน ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลาย จึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา 3 เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัท พากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์ และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทง เพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

 

สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีป เพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาด ลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรา มักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย

 

เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า

          พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท และการรับเสด็จพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน)

 

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพม่า

            เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปาก และปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราช จึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทง เพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาค ก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้ เป็นที่นับถือของชาวพม่า และชาวพายัพของไทยมาก

 

เรื่องที่สี่ เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า

เกิดอหิวาต์ระบาด ที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิม และหงสาวดีเป็นเวลา 6 ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำ เพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าว จะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า (การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืน และมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆ คล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทง ที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆ แวมๆ คล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว)

 

เรื่องที่ห้า กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน

ทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึม และขมุกขมัวให้เห็นขลัง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุดเทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่าง เพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ (ปั่งจุ๊ยเต็ง) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้า หรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชน ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง

 

ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะเป็นประเพณีที่มีคุณค่า ในเรื่องการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้ว ประเพณีนี้ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสานาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญ ก็ถือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆ แห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองไปด้วย


วิธีทำกระทงใบตอง สอนทำกระทงใช้หยวกกล้วย หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ ติดตามอ่านกันต่อได้เลยจร้า




วิธีทำกระทงใบตอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.sanook.com/campus/910912/

                              : https://www.sanook.com/campus/943367/


วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

E-Book เรื่อง รางเลือน

ผู้แต่ง : ณัฐจรีย์  จุติกุล

พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564

             หนังสือเรื่อง รางเลือน เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับผู้ดูแลผู้ป้วยโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ ที่ต้องใช้หลักธรรมและปรับทัศนคติตนเองเพื่อการดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด 











วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แหล่งเรียนรู้: ศูนย์เรียนรู้เศรฐกิจพอเพียงตำบลหนองกุลา

1. ชื่อแหล่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้เศรฐกิจพอเพียงตำบลหนองกุลา


2. ชื่อผู้จัดการแหล่งเรียนรู้ นายประกอบ เกิดผ่อง เบอร์โทร 062-9414-184

3. ที่ตั้งแหล่งเรียนรู้ บ้านเลขที่ 163/1 ม.14 บ้านหนองปลวก ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ

จังหวัดพิษณุโลก

4. ลักษณะของแหล่งเรียนรู้

แหล่งเรียนรู้ในชุมชน หมายถึง “แหล่ง” หรือ “ที่รวม” ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ สารสนเทศ กิจกรรมและประสบการณ์ต่าง ๆ ในชุมชนที่สนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถหาความรู้และเรียนรู้ ด้วยตนเองได้ตามอัธยาศัย การสร้างและพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นการจัดให้มีการศึกษาที่เกื้อหนุนให้บุคคลใน ชุมชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต โดยการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง ภายใต้สิ่งที่มีอยู่ในสังคมรอบ ๆ ตัว ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น จากประสบการณ์ของวิทยากรหรือ ปราชญ์ชาวบ้าน จากแปลงสาธิต จากศูนย์เรียนรู้ ฯลฯ โดยมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ จริง ในลักษณะของการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ที่ไม่เน้นการเรียนรู้ เฉพาะในห้องเรียน ดังนั้นการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในชุมชนจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะก่อ ประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ทําให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพจากประสบการณ์ตรง ซึ่งสัมผัสและ จับต้องได้ทั้งนี้ ความสําคัญของแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ไม่ได้มีเฉพาะต่อสมาชิกในชุมชนเท่านั้น แต่ ยังรวมถึงบุคคลทั่วไปและผู้ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ เพื่อดําเนิน กิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู่ร่วมกัน และก่อให้เกิดการจารึกข้อมูลชุมชนที่เป็นระบบด้วย

6.ความเป็นมาของของปราชญ์

เดิมที เป็นชาวบ้านประกอบอาชีพทำนา เป็นเกษตรกรคนนึงที่ใช้สารสารเคมี ปลูกพืชเชิงเดียว ทำมานานพอสมควร จนเป็นหนี้ จนเกิดความเบื่อหน่ายอยากเปลี่ยนอาชีพ จึงไปผลันตัวเองไปรับจ้างช่วยช่าง ซึ่งเป็นญาติกันได้ไปรับเหมางานทำเกี่ยวกับก่อสร้าง อยู่มาวันนึงได้มีโอกาสเข้าไปทำไฟในพระราชวังของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระเองทรงชี้แนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน เลยลองกลับมาทำตามที่พ่อหลวงท่านบอก คือทำไร่นาสวนผสม ปลูกป่า ปลูกผักสวนครัว ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ทำมาเป็นเวลา 3 ปี ทำจนมีความรู้จนเชี่ยวชาญและสามารถหลุดหนี้ที่เป็นอยู่ ต่อมาเริ่มมีหน่วยงานเกษตรอำเภอมาส่งเสริมลุงประกอบให้ไปประกวดออกงานต่างๆ จนได้รับรางวัลและเป็นยอมรับของสังคมในปัจจุบัน

7. กระบวนการเรียนรู้ 1. ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมทั้งที่มีในตําราเรียนและที่ไม่มีในตําราเรียน

2. ใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม

3. ใช้เป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น

4. ใช้เป็นแหล่งสถานที่ศึกษาดูงาน ฝึกฝนอาชีพ





ที่มา: https://qrgo.page.link/SZfMa

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แหล่งเรียนรู้ : กลุ่มผักปลอดสารพิษ

 กลุ่มผักปลอดสารพิษบ้านหัวขัว


ที่ตั้ง หมู่ 1 บ้านหัวขัว ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก 65140

ชื่อ นางไว ยอดบุตรี เบอร์โทร 081-9735293


ลักษณะของแหล่งเรียนรู้ กลุ่มผักปลอดสารพิษ

เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันเรียนรู้เรื่องการผลิตได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคและสามารถลด ละเลิก การใช้สารเคมีมาเป็นการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมีซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลกำไรได้อย่างไรหลังจากที่ได้เกิดการเรียนรู้เกษตรกรสามารถที่จะรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด และเกิดกระบวนการคิดที่ได้จากการเรียนรู้ได้อย่างไร โดยนำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการผลิต ตลอดจนเกิดกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมกันดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มแข็งได้


กระบวนการเรียนรู้ การพึ่งตนเองของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านพันเสา ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการทำงาน โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ

1. ก่อนทำคือการวางแผนการดำเนินงาน (วางแผน)

2.ขณะทำเกษตรกรรมอินทรีย์คือการดำเนินการ

วิธีการ ตามแผน (ปฏิบัติตามแผน)

1) การดำเนินการรวบรวมสมาชิก

2) การดำเนินการแสวงหาความรู้

3) ขั้นลงมือปฏิบัติจริง เป็นการบริหารทรัพยากรและการมีส่วนร่วม

เชิงบูรณาการในการดำเนินงาน คน ความรู้โดยเครือข่ายภาครัฐทรัพยากรโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดการโดยชุมชน ก่อให้เกิดการบูรณาการในภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกิดการรับรองมาตรฐานการผลิต เกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษภายใต้ชื่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของพันเสาฟาร์ม

3. หลังทำเกษตรกรรม อินทรีย์คือการประเมินแผน

(ตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน)

4. การนำผลการประเมินมาพัฒนา (ปรับปรุง แก้ไข) จากกระบวนการพึ่งตนเองกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านพันเสาที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นว่าเป็นการ พึ่งตนเอง


ครูผู้ประสานงาน นางสาวสยุมพร บุญอินทร์

ที่มาข้อมูล: https://qrgo.page.link/zZdvQ

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

กลุ่มทอผ้าวันทาผ้าขิต

 แหล่งเรียนรู้

กศน.ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

*****************************

1. ชื่อแหล่งเรียนรู้ : กลุ่มทอผ้าวันทาผ้าขิต

2. ที่ตั้งแหล่งเรียนรู้ :

13 ม.6 บ้านคลองเตย ต.บึงกอก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก 65140

3. ชื่อผู้จัดการแหล่งเรียนรู้ : นางวันทา โกสากุล เบอร์โทร 086-213-5219

4. ลักษณะของแหล่งเรียนรู้ :

เป็นการทอผ้าธรรมชาติ ผ้าลายขิต สายฝน ผ้าขาวม้า ผ้ามัดหมี่

5. กระบวนการเรียนรู้ : ปี 2529 ได้เป็นเหรัญญิต ของกลุ่มทอผ้าป้าพุฒ ซึ่งมีแม่เป็นประธานกลุ่มอยู่ และเมื่อปี 2541 ได้แยกออกเป็นทำเป็นกลุ่มวันทาผ้าขิต โดยตนเองเป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิก 40 คนในหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้เวลาว่างมาทอผ้า เพื่อหารายได้เสริม และได้มีการขายผ้าที่กลุ่มและได้ออกจำหน่ายสินค้าตามงานต่างๆ เช่น จังหวัดเคลื่อนที่ อำเภอเคลื่อนที่ งานกาชาด งานต่างๆ ผ้าคัดสรร ขอโอท๊อปจาก 3 ดาว เป็น 4 ดาว ยกระดับจนถึงปัจจุบันและได้เป็นวิทยากรของหน่วยงานอื่น หลายหน่วยงาน เช่น กศน. พัฒนาชุมชน พัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาสังคม ฯลฯ และมีศึกษาดูงานจากหน่วยงานอื่น


ครูผู้ประสานงาน : นางสาวกาญจนา อยู่นิ่ม



ที่มาข้อมูล : https://qrgo.page.link/M6sVK

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

วันพระราชทานธงชาติไทย

 28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย

          วันพระราชทานธงชาติไทย (อังกฤษ: Thai National Flag Day) เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460[1] สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ[2] รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ โดยการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการสร้างชาติของแต่ละประเทศ

 

               ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลประกาศให้มีกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทยนั้น ถือเป็นปีที่มีการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทยด้วย ในวันที่ 28 กันยายน ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จึงมีการจัดกิจกรรมครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย และมีนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย ชื่อว่า "100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ" โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในกิจกรรมครั้งนี้ โดยมีส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมในพิธีนี้ด้วยตั้งแต่เวลา 07:45 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์ รับการเคารพจากหมู่เชิญธง และมอบธงชาติไทยแก่หัวหน้าชุดหมู่เชิญธง จากนั้นชุดหมู่เชิญธงนำธงชาติไทยที่ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรี มายังบริเวณแท่นหน้าเสาธง ขณะที่นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี พร้อมกันยังจุดบริเวณแท่นหน้าเสาธง ตึกสันติไมตรี เพื่อยืนเคารพธงชาติไทย และร่วมร้องเพลงชาติไทยในเวลา 08:00 น. จากนั้นเปิดนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย พร้อมทั้งมอบตราสัญลักษณ์ ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง

 ประวัติธงชาติไทย

 1. ผืนธงสีแดงล้วน

        “ธงชาติไทย” เริ่มมีใช้ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. เนื่องด้วยฝรั่งเศสได้นำเรือรบเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า นายเรือฝรั่งเศสได้ร้องขอให้สยามชักธงชาติขึ้น เพื่อจะยิงปืนใหญ่สลุต แต่สยามขณะนั้น หาได้มีธงชาติใช้ไม่ จึงได้นำผืนผ้าสีแดงสดชักขึ้นแทน กองเรือฝรั่งเศสเห็นดังนั้นจึงได้ยิงปืนใหญ่สลุต พร้อมนำเรือแล่นผ่านป้อมวิไชเยนทร์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2223 และนั่นคือ ธงชาติไทยผืนแรก ของสยามประเทศ

 2. ผืนธงสีแดง จักรสีขาว

         ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงกำหนดให้ใช้ “จักร” อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี. ลงไว้กลางธงผ้าผืนแดงสำหรับใช้ในเรือหลวง ส่วนเรือราษฎร์นั้นให้ใช้คงเดิม

 3. ผืนธงสีแดง ช้างสีขาวกลางวงจักรสีขาว

         ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ขึ้นบนผืนแผ่นดินสยาม คือ การได้ช้างเผือกเข้ามาสู่รัชกาลถึง 3 ช้าง ได้แก่ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และ พระยาเศวตคชลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นพระเกียรติยศอันสูงสุด จึงโปรดทำรูปช้างสีขาวไว้กลางวงจักรสีขาว กลางผืนธงแดง ส่วนเรือราษฎร์นั้นให้คงเดิม

 4. ผืนธงสีแดง ช้างสีขาว

         ล่วงเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้เอารูปจักรออก เนื่องจากทรงเห็นว่าจักรเป็นของสูง โดยให้ใช้รูปช้างเผือกบนผืนผ้าแดง และให้เรือหลวง เรือราษฎร์ ใช้เหมือนกัน

 5. ผืนธงสีแดง ช้างทรงเครื่อง

             เมื่อปีพุทธศักราช 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสให้ ผืนธงแดงตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่อง หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ในเรือหลวงทั้งปวง


ที่มา: https://news.mthai.com/webmaster-talk/589724.html 

         https://qrgo.page.link/q9yD3