ดาวเรือง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Tagetes erecta L.;
ชื่อสามัญ: Marigold
ดาวเรืองนิยมปลูกตัดดอก เป็นดาวเรืองในกลุ่ม African หรือ American marigold เป็นพันธุ์ดอกใหญ่ พันธุ์ที่ใช้เป็นการค้าในประเทศไทยได้แก่พันธุ์ซอเวอร์เรน (soverign) นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ใหม่ๆที่นำเข้ามาได้แก่ พันธุ์จาไมก้า (jamaica) และอื่นๆ อีกหลายพันธุ์
ดาวเรือง เป็นไม้ดอกที่คนไทยนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากเมล็ดมีขนาดใหญ่ปลูกง่าย งอกเร็ว ต้นโตเร็ว และแข็งแรงไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวน ให้ดอกเร็ว ดอกดก มีหลายชนิดและหลายสี รูปทรงของดอกสวยงาม สีสันสดใส บานทนนานหลายวัน สามารถปักแจกันได้นาน 1-2 สัปดาห์ ให้ดอกในระยะเวลาสั้น คือ ประมาณ 60-70 วัน หลังปลูก ดังนั้นในการปลูกดาวเรืองสามารถกำหนดระยะเวลาการออกดอกให้ตรงกับเทศกาลสำคัญได้จึงมีผู้นิยมปลูก และใช้ดาวเรืองกันมาก นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ตลอดปี และปลูกได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกสูง ในปัจจุบันการปลูกดาวเรืองนอกจากปลูกเพื่อตัดดอกขายแล้ว ยังนิยมปลูกในกระถางหรือถุงพลาสติก เพื่อประดับตกแต่งอาคารสถานที่ และปลูกเพื่อตัดดอกส่งโรงงานอาหารสัตว์อีกด้วย
การปลูกดาวเรืองในประเทศไทย เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทราบเพียงว่าดาวเรืองไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย แต่มีการนำเข้าพันธุ์ดาวเรืองจากต่างประเทศมาปลูกเป็นเวลานานจนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี มีการกระจายตัวขอสายพันธุ์มากทั้งทางด้านรูปทรงดอก ขนาดดอก ลักษณะการเจริญเติบโต ตลอดจนการต้านทานต่อโรคและแมลง ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกดาวเรืองประมาณ 4,000 ไร่ มีแหล่งปลูกทีสำคัญ คือ จังหวัดพะเยา ลำปาง นนทบุรี กรุงเทพฯ ราชบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุดรธานี
ดอกดาวเรืองชนิดต่างๆ
ชนิดของดาวเรือง
ดาวเรืองที่ปลูกกันอยู่โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ดาวเรืองอเมริกัน (American Marigolds) เป็นดาวเรืองที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกา ลำต้นสูงตั้งแต่ 10-40 นิ้ว ดอกสีเหลือง ส้ม ทอง และขาว กลีบ ดอกซ้อนกันแน่น ดอกมีขนาดใหญ่ประมาณ 3-4 นิ้ว ดาวเรืองชนิดนี้มีหลายพันธุ์ ได้แก่
พันธุ์เตี้ย สูงประมาณ 10-14 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ ปาปาย่า (papaya) ไพน์แอปเปิล (pineaple) ปัมพ์กิน (Pumpkin) เป็นต้น
พันธุ์สูงปานกลาง สูงประมาณ 14-16 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์อะพอลโล (Apollo) ไวกิ่ง (Ziking) มูนช๊อต (Moonshot) เป็นต้น
พันธุ์สูง สูงประมาณ 16-36 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ดับเบิล อีเกิล (Double Egle) ดับบลูน (Doubloon) ซอฟเวอร์เรน (Sovereign) เป็นต้น
2. ดาวเรืองฝรั่งเศส (French Marigolds) ดาวเรืองฝรั่งเศสเป็นดาวเรืองต้นเล็ก ต้นเป็นพุ่มเตี้ย ๆ สูงประมาณ 6-12 นิ้ว ดอกสีเหลือง ส้ม ทอง น้ำตาลอมแดง และสีแดง ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1.5 นิ้ว นิยมปลูกประดับในแปลงมากกว่าปลูกเพื่อตัดดอก เนื่องจากมีก้านดอกสั้น นอกจากนี้ยังเป็นดาวเรืองที่สามารถลดปริมาณไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดอาการรากปมในรากพืชได้ ตัวอย่างดาวเรืองฝรั่งเศส ได้แก่
พันธุ์ดอกชั้นเดียว ดอกมีขนาด 1.5-2 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์เรด มาเรตต้า (Red Marietta) นอธตี้ มาเรตต้า (Naughty Marietta) เอสปานา (Espana) ลีโอปาร์ด (Leopard) เป็นต้น
พันธุ์ดอกซ้อน ดอกมีขนาดตั้งแต่ 1.5-3 นิ้ว ได้แก่ พันธุ์ควีน โซเฟีย (Queen Sophia ) สการ์เลต โซเฟีย (Scarlet Sophia) โกลเด้น เกต (Golden Gate ) เป็นต้น
3. ดาวเรืองพันธุ์ลูกผสม (Mule Mariglds หรือ Afro American Marigolds) เป็นดาวเรืองลูกผสมระหว่างดาวเรืองอเมริกันและดาวเรืองฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำลักษณะความแข็งแรง ดอกใหญ่ และมีกลีบซ้อนมากของดาวเรืองอเมริกัน รวมเข้ากับลักษณะต้นเตี้ยทรงพุ่มกะทัดรัดของดาวเรืองฝรั่งเศส ดาวเรืองลูกผสมให้ดอกเร็วมาก คือเพียง 5 สัปดาห์หลังจากเพาะเมล็ดดอกมีขนาด 2-3 นิ้ว ดอกดกและอยู่กับต้นได้ดี ดาวเรืองชนิดนี้มีข้อเสียก็คือเมล็ดจะลีบ ไม่สามารถนำมาเพาะให้เป้นต้นใหม่ได้จึงเรียกว่า ดาวเรืองล่อ เช่นเดียวกับการผสมม้ากับลา มีลูกออกมาเรียกว่า ล่อ ซึ่งเป็นหมัน จึงทำให้เมล็ดมีราคาแพงมาก และการปลูกดาวเรืองด้วยเมล็ดชนิดนี้ จึงควรใช้เมล็ดเป็นปริมาณ 2 เท่าของจำนวนที่ต้องการ เนื่องจากเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ
ดาวเรืองลูกผสมที่นิยมปลูกมีอยู่หลายพันธุ์ คือ พันธุ์นักเก็ต (Nugget) ไฟร์เวิร์ก (Fireworks) เรด เซเว่น สตาร์ (Red Sevenstar) และโชว์โบ๊ต (Showboat)
การขยายพันธุ์ดาวเรือง
ทำได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่วิธีที่นิยมทำคือ การใช้เมล็ด เพราะได้จำนวนมากกว่า โดยนำเมล็ดดาวเรืองมาเพาะในกระบะเพาะ ซึ่งมีวัสดุเพาะ คือ ขุยมะพร้าว ทราย ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 1:1:1:1 หรือแปลงเพาะที่มีดินร่วนซุยค่อนข้างละเอียด คราดดินให้ผิวดินเรียบสม่ำเสมอ ทำร่องบนกระบะเพาะหรือแปลงเพาะให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร แต่ละร่องห่างกัน 5 เซนติเมตร หยอดเมล็ดลงร่องห่างกัน 1-2 นิ้ว แล้วกลบแต่ละร่องด้วยวัสดุเพาะ หรือดินละเอียดเพียงบางๆ รดน้ำด้วยฝักบัวฝอยให้ชุ่ม แล้วคลุมกระบะเพาะด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือคลุมแปลงเพาะด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพื่อรักษาความชื้น เมล็ดดาวเรืองจะงอกภายใน 3-5 วัน เป็นต้นกล้า
1. ไถเตรียมดิน หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไป ประมาณ 1 ตัน/ไร่ ยกร่องแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร รดน้ำแปลงไว้ล่วงหน้า 1 วัน
2. ขุดหลุมกว้าง 15 เซนติเมตร แปลงละ 3 แถว ระยะระหว่างแถว 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยทริบเบิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟส หรือสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนชา รองก้นหลุม แล้วเกลี่ยดินข้างหลุมมากลบปุ๋ยเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้รากดาวเรืองสัมผัสปุ๋ยโดยตรง
3. นำต้นกล้าที่มีอายุ 7-10 วัน ( นับจากวันเพาะเมล็ด ) โดยแยกต้นกล้าให้มีวัสดุเพาะ หรือดินหุ้มติดรากมาด้วย เพื่อป้องกันรากกระทบกระเทือน นำมาปลูกในแต่ละหลุมที่เตรียมไว้ รดน้ำให้ชุ่ม
4. หลังจากนั้น ต้องรดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 7 วัน ซึ่งต้นกล้า จะตั้งตัวได้ดี แล้วจึงรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า ในช่วงที่ดอกดาวเรืองเริ่มบานไม่ควรรดน้ำให้โดนดอก เพื่อป้องกันดอกเป็นโรค
5. เมื่อดาวเรืองอายุ 15 และ 25 วัน ควรใส่ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1 ช้อน : ต้น เมื่ออายุ 35 และ 45 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ในอัตราเดียวกัน โดยวิธีฝังลงในดินตื้นๆ ประมาณ ? นิ้ว ห่างโคนต้น 6 นิ้ว แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ย
6. ช่วงดาวเรืองอายุ 21-25 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ต้นมีใบจริงขนาดใหญ่ ประมาณ 4 คู่ และส่วนยอดมีใบเล็กๆ 1-2 คู่ จะต้องปลิดยอดทิ้งเพื่อให้แตกกิ่งข้าง โดยใช้มือซ้ายจับคู่ใบบนสุดที่จะเหลือไว้ แล้วใช้มือขวาดึงส่วนยอดลงทางด้านข้างจนหลุดออกมา หลังจากนั้น 5-7 วันตาข้างจะเริ่มแตกและเจริญเป็นกิ่งใหม่ ซึ่งจะติดตุ่มดอกทั้งที่ตายอดปลายกิ่งและตาข้าง
7. หลังจากปลูก 40-45 วันในแต่ละกิ่ง เมื่อดอกยอดมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพดดอกข้างมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ต้องรีบปลิดดอกข้างออกให้หมดภายใน 2-3 วัน คงเหลือดอกยอดไว้ดอกเดียว เพื่อให้ดอกมีขนาดใหญ่
8. หลังจากนั้นประมาณ 20 วัน ( อายุ 60-65 วัน ) ก็ตัดดอกไปจำหน่ายได้ ซึ่งจะได้ประมาณ 10-12 ดอก/ต้น
โรคและแมลงที่สำคัญต่อดาวเรือง
1. โรคเหี่ยว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอรา (Phytoptora) มักเกิดกับดาวเรืองที่ดอกกำลังเริ่มทยอยบาน ระยะแรกมีอาการคล้ายกับดาวเรืองขาดน้ำ กล่าวคือ อาการเหี่ยวจะแสดงในตอนกลางวันส่วนกลางคืนอาการจะปกติ หลังจากนั้นประมาณ 3 -4 วัน ดาวเรืองก็จะเหี่ยวทั้งด้นและตายไปในที่สุด
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็ป ฉีดพ่นสลับกับคาร์เบนดาซิมประมาณสัปดาห์ละครั้ง และถ้าพบมากต้นที่เป็นโรคและตายในแปลงต้องรีบกำจัดทิ้ง
2. โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งลักษณะอาการ คือจะเห็นสปอร์ของเชื้อราเป็นฝุ่นสีขาว ๆ ตามใบของดาวเรือง ทำให้ใบหยิก การเจริญเติบโตชะงัก ถ้าเป็นมากอาจทำให้ต้นตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด โดยการพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็ป ไดแทน-เอ็ม 45 ประมาณสัปดาห์ละครั้ง
3. โรคดอกไหม้ เกิดเชื้อราเข้าทำลายดอกดาวเรือง ทำให้ดอกเป็นสีน้ำตาลจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้
การป้องกันกำจัด ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซ็ปหรือดาโคนิล โดยฉีดพ่นให้ทั่วทั้งแปลง
4. เพลี้ยไฟ เข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและใบอ่อน จะเห็นมีรอยขีดตามใบหรือกลีบเลี้ยงของดอก เพลี้ยไฟจะระบาดมากในช่างฤดูร้อน
การป้องกันกำจัด ใช้สารเทมมิค เอ จี (Temic A.G.) ฝังรอบ ๆ โคนต้น โดยฝังให้ห่างโคนต้นประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือฉีดพ่นด้วยสารโตกุไธออนสัปดาห์ละครั้ง
5. หนอนกระทู้หอม เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน จะเข้าทำลายในขณะที่ดอกดาวเรืองเริ่มบานหนอนจะกัดกินดอกดาวเรือง ทำให้ดอกแหว่งเสียหาย
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น แลนเนท, แคสเคต หรือใช้เชื้อไวรัสทำลายแมลงพวกเอ็น.พี.วี (NPV) ฉีดพ่นในแปลงที่มีหนอนกระทู้หอมระบาด
แมลงศัตรูสำคัญของดาวเรือง
เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายและดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ทำให้ใบหงิกงอแล้วห่อขึ้นไม่ แตกใบใหม่ จะเห็นมีรอยขีดตามใบหรือกลีบเลี้ยงของดอก จะพบเห็นมากในตอนกลางวัน ตัวเรียวเล็ก สีน้ำตาล ส่วนมากพบใต้ใบ ใช้สารเคมีพ่นกำจัดเพลี้ยไฟทุกๆ 5-7 วัน หากระบาดมากทุกๆ 2-3 วัน โดยมากในช่วงหลังฝนตก ที่มีความชื้นสูง และอากาศร้อนอบอ้าว ควรฉีดพ่นในช่วงสาย และช่วงบ่าย หลีกเลี่ยงการฉีดพ่นยาในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เพราะตัวยาบางชนิดจะทำให้ใบไหม้ได้ (มีระบาดในช่วงหลังเด็ดยอด)
หนอนชอนใบ
ทำลายใบอ่อนตัวหนอนที่ฟักจากไข่ไชชอนเป็นทางยาวหรือ สร้างอุโมงค์กัดกินและขับถ่ายอยู่ภายในใบที่ถูกทำลายจะแสดงลักษณะแคระแกรน บิดเบี้ยว
มีสารเคมีหลายชนิดที่ใช้สำหรับป้องกันกำจัดหนอนชอนใบ แต่ช่วงเวลาพ่นสารเคมีสำหรับกำจัดหนอนชอนใบจะต้องกระทำในช่วง 6 โมงถึง 9 โมงเช้าเท่านั้น หากเกษตรกรพ่นในช่วงเวลาอื่นๆ สารเคมีจะไม่มีผลในการทำลาย (ระบาดในช่วงที่ย้ายปลูกใหม่ๆ ก่อนเด็ดยอด)
หนอนกัดใบ และหนอนผีเสื้อ
หนอนจะกัดกินดอกจนกลีบดอกร่วงเสียหาย เข้าทำลายในขณะทีดอกเริ่มบาน หนอนเหล่านี้เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน ดังนั้นนิสัยการออกหากินจะเป็นช่วงเวลากลางคืน การใช้สารเคมีชนิดถูกตัวตายจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ช่วงเวลาที่เหมาะสมมี 2 เวลาคือ ใกล้ช่วงเช้าประมาณตี 2 หรือทุกๆเช้าช่วง 6 โมงถึง 7 โมง เช้า หรือ 1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม จะเหมาะสมกว่า หนอนกัดใบ และหนอนผีเสื้อจะมีการขยายพื้นที่หา กินจากจุดศูนย์กลาง และเคลื่อนย้ายไปตามที่อื่นๆ ที่มีอาหาร(ใบ ลำต้น ดอก) ดังนั้นเรา อาจพ่นเป็นจุด หรือพ่นรอบๆพื้นที่เสียหาย และมีการตรวจสอบทุกระยะ หากการทำลาย ยังมีอยู่จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (ระบาดในช่วงตุ่มดอก)
ไรแดง
ไรแดงพบมากในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนจัด พบมากในส่วนใต้ ใบ และจะ ลามไป ทั้งแปลง ไรแดงมีรูปร่างคล้ายกับแมงมุม ขนาดเล็กมาก สีแดงชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม หากมีปริมาณมากจะสร้างเส้นใยคล้ายใยแมงมุม คลุมทั้งต้น ใบพืชที่โดยทำลายจะแสดงอาการเป็นจุดด่างๆ สีเหลือง แล้วทำให้ใบหงิกงอห่อลงช่วงเวลาการพ่นสารเคมีในช่วง สายและช่วงบ่าย จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด (มักระบาดในช่วงหลังเด็ดยอด)
การดูแลรักษาดอกดาวเรือง
1. หลังจากย้ายปลูกลงแปลงครบ 10 วันหรือสังเกตจากดาวเรืองมีใบจริงจำนวน 3 คู่ ให้เด็ดยอดดาวเรืองออก เพื่อให้เกิดการแตกของกิ่งข้างของดาวเรือง โดยวิธีการเด็ดยอดคือ ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งจับตรงโคนของยอดดาวเรือง ยอดบนสุด แล้วเด็ดยอดออกพยายามเด็ดยอดให้ชิดโคนยอดและให้ยอดหลุดอย่าให้เกิดบาดแผลจาก การเด็ดยอด (การเด็ดยอดดาวเรืองควรเด็ดยอดในช่วงเช้าเนื่องจากดาวเรืองจะอวบน้ำอยู่ และหลังจากเด็ดยอดควรพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรากลุ่ม ไดเทน)
2. หลังจากเด็ดยอดแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-0-0 อัตรา 2 กรัม (1 ช้อนชา) ต่อต้น โดยหว่านปุ๋ยรอบโคนต้นห่างจากโคนต้นประมาณ 20 ซม. (หนึ่งฝามือ) พร้อมกับพูนโคนและกำจัดวัชพืช (ในช่วงนี้หากเป็นฤดูฝนให้เริ่มทำค้างสำหรับป้องกันต้นดาวเรืองล้ม เพราะหากทำค้างดาวเรืองเกินไปจากช่วงนี้ไปรากของดาวเรืองจะเจริญเติบโตมาก จะทำให้ในการทำไม้หลักปักค้างดาวเรือง โดนใส่รากดาวเรือง
3. หลังจากย้ายปลูก 35-40 วัน (เริ่มเห็นตุ่มดอก) ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-0-0 อัตรา 2 กรัม (1 ช้อนชา)ต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 1 กรัม(ครึ่งช้อนชาต่อต้น) โดยหว่านปุ๋ยรอบโคนต้นห่างจากโคนต้นประมาณ 20 ซม. (หนึ่งฝามือ) พร้อมกับพูนโคนและกำจัดวัชพืช ในกรณีที่ต้องใช้ปุ๋ยสองสูตรรวมกันให้ผสมก่อนแล้วค่อยใส่ลงในแปลง
เช่น ผสมปุ๋ย 15-0-0 อัตรา 1,000 กรัม (1 กิโลกรัม) รวมกับปุ๋ยสูตร 0-0-16 อัตรา 500 กรัม (ครึ่งกิโลกรัม) สามารถนำไปใช้กับต้นดาวเรืองได้ทั้งหมด 500 ต้น ต้นละ 3 กรัม
ในกรณีที่ไม่สามารถหาปุ๋ยสูตร 15-0-0 หรือ 0-0-60 ได้ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 แทนโดยใช้ในอัตรา 3 กรัม (ครึ่งช้อนโต๊ะ) ต่อต้นทั้งสองระยะ หลังการให้ปุ๋ยจะต้องให้น้ำตามทุกครั้งเสมอ
4. การพ่นปุ๋ยทางใบและอาหารเสริม ช่วงหลังจากย้ายปลูก 35-40 วัน (ช่วงเป็นตุ่มดอก) ให้เริ่มพ่นอาหารเสริมพวก แคลเซียม – โบรอน และอาหารเสริมต่างๆ ยกเว้นธาตุอาหารเสริมกลุ่มที่เป็นธาตุเหล็ก (Fe) โดยพ่นทุกๆ 3-4 วันก่อนที่ตุ่มดอกจะเริ่มเห็นสีดอก ช่วงหลังจากย้ายปลูกแล้วประมาณ 70-75 วัน (เก็บดอกแล้วประมาณ 3-4 มีด) ให้พ่นปุ๋ยทางใบสูตร 2:2:3 (N:P:K) เช่นปุ๋ยทางใบสูตร 20:20:30 โดยพ่นทุก 5-7 วันประมาณ 2-3 ครั้ง หลังจากพ่นครั้งแรก
5. การให้น้ำดาวเรือง ดาวเรืองเป็นพืชที่ชอบการให้น้ำในลักษณะให้น้อยๆ แต่บ่อยๆ ครั้งหรือชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะและน้ำท่วมขัง
การให้น้ำและใส่ปุ๋ยดาวเรือง
*ข้อมูลจาก : marigoldasia.com
สรรพคุณของดาวเรือง
ใบ : รสชุ่มเย็น มีกลิ่นฉุน ใช้แก้ฝีฝักบัว ฝีพุพอง เด็กเป็นตานขโมย ตุ่มมีหนอง บวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุ
ช่อดอก : รสขม ฉุนเล็กน้อย ใช้กล่อมตับ ขับร้อน ละลายเสมหะ แก้เวียนศีรษะ ตาเจ็บ ไอหวัด ไอกรน หลอดลมอักเสบ เต้านมอักเสบ คามทูม เรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และแก้ปวดฟัน
ตำรับยา
1. แก้ไอกรน ใช้ช่อดอกสด 15 ช่อ ต้มเอาน้ำมาผสมน้ำตาลแดงกิน
2. แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ช่อดอกสด 30 กรัม กับจุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม และจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม ต้มน้ำกิน
3. แก้เต้านมอักเสบ ใช้ช่อดอกแห้งเต่งเล้า (paris petiolata Bak. ex. Forb.) แห้งและดอกสายน้ำฝึ้ง (Lonicera japonica Thunb) แห้งอย่างละเท่า ๆ กัน บดเป็นผงผสมน้ำส้มสายชูทาบริเวณที่เป็น
4. แก้ปวดฟัน ตาเจ็บ ใช้ช่อดอกแห้ง 10 กรัม ต้มน้ำกิน
ผลทางเภสัชวิทยา
1. ในใบมี Kaempferitrin มีฤทธิ์แก้อักเสบให้หนูตะเภากินขนาด 50 มก./กก. ของน้ำหนักตัวจะทำให้หลอดเลือดฝอยตีบตันทำให้เลือดหยุด เนื้อหนังเจริญดีขึ้น มีฤทธิ์แรงกว่ารูติน (Rutin) และมีปริมาณวิตามินพี (Vitamin P) ค่อนข้างสูง นอกจากนี้สารนี้ยังสามารถลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ที่แยกจากตัวของกระต่าย ทำให้จังหวะการบีบตัวลดลง
2. ดอกมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่นได้ เคยใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค และสงบประสาท เช่นเดียวกับต้น Tagetes minuta L. (T. glandif lora) ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์สงบประสาท ลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด หลอดลม และแก้อักเสบ
สารเคมีที่พบ
ช่อดอกมี Flavonoid glycosides, tagetiin 0.1% และสารเรืองแสง Terthienyl 15-21 มก. / กก. ของดอกสด Helenien 74%, B-Carotene Flavoxanthin; Helenien มีคนกล่าวว่ามีผลทำให้เนื้อเยื่อตาดีขึ้น ใบ มี Kaempferitrin เมล็ด มีน้ำมัน
เภสัชตำรับของเม็กซิโก เคยใช้ช่อดอกและใบต้มน้ำกิน ขับลม และขับปัสสาวะ
ในอินเดียน้ำคั้นจากช่อดอก ใช้ฟอกเลือดและแก้ริดสีดวงทวาร
ในบราซิลใช้ช่อดอกชงน้ำแก้อาการปวดตามข้อ หลอดลมอักเสบ ใบและช่อดอกชงน้ำกิน ใช้ขับพยาธิ ช่อดอกใช้ภายนอกในโรคตา และแผลเรื้อรังต่าง ๆ ไปใช้พอกฝี ฝีฝักบัว น้ำคั้นจากใบใช้แก้ปวดหู รากใช้เป็นยาระบาย
ในไทยใช้น้ำคั้นจากใบ ผสมน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมดใช้ทาแผลเปื่อยเน่า ฝีต่าง ๆ
การใช้ประโยชน์จากดอกดาวเรือง
ภาพตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากดอกดาวเรือง
ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่ง นอกจากจะมี ความสำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถ นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย การนำดาวเรืองไปใช้ประโยชน์สรุปได้ดังนี้
1. ปลูกประดับเพื่อความสวยงาม ดาวเรืองเป็นได้ดอกที่มีความ สวยงาม กลีบดอกสีเหลืองเรียงอัดกันแน่น และมีอายุการใช้งานนาน ดังนั้นจึงเหมาะ สำหรับปลูกเพื่อประดับอาคารบ้านเรือนและ สถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินตา สบายใจ
2. ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันแมลง เนื่องจากดาวเรืองเป็นสารที่มีกลิ่น เหม็น (ฉุน) แมลงไม่ชอบ จึงสามารถใช้เป็น เกราะป้องกันแมลงให้แก่พืชอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้รากของดาวเรืองยังมีสารชนิดหนึ่ง ที่ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้
3. ปลูกเพื่อจำหน่าย
3.1 ใช้ทำพวงมาลัย ปัจจุบันนิยมนำดาวเรืองมาร้อยพวงมาลัยกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยไหว้พระ หรือพวงมาลัยสำหรับ คล้องคอในงานพิธีต่าง ๆ การตัดดอกดาวเรือง สำหรับใช้ประโชน์ในด้านนี้จะต้องให้มีก้านดอกสั้น หรือเหลือเฉพาะดอก
3.2 ใช้ปักแจกัน เนื่องจากดาวเรือง เป็นไม้ดอกที่มีลักษระกลมเรียงตัวกันแน่นเป็น ระเบียบและมีสีสันสวยงาม จึงมีคนนิยมนำมา ปักแจกันมาก ไม่ว่าจะเป็นแจกันตั้งตามโต๊ะ รับแขก ตามหิ้งพระ หรือแจกันประกอบ โต๊ะหมู่บูชา การตัดดอกดาวเรืองเพื่อนำมา ปักแจกันนี้ควรตัดให้มีก้านดอกยาวประมาณ 18 - 20 นิ้ว มัดดอกดาวเรืองเป็นกำ ๆ แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเพื่อให้ดอกดาวเรืองคงความสดอยู่ได้นาน ๆ
3.3 การปลูกลงกระถางหรือถุงเพื่อประดับอาคารสถานที่ ปัจจุบันมีการนำกระถางหรือถุงดาวเรืองมาประดับอาคาร สถานที่กันมากขึ้น เพราะสามารถใช้ประดับ ไว้เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานนิทรรศการ งานพระราชทาน ปริญญาบัตร หรือแม้แต่งานพิธีตามอาคาร บ้านเรือน การปลูกดาวเรืองเพื่อใช้ประโยชน์ ในด้านนี้ก็เหมือนกับการปลูกดาวเรือง โดยทั่วไป เพียงแต่เป็นการปลูกลงในกระถาง หรือถุง แทนที่จะปลูกลงในแปลงดอก ดาวเรืองเริ่มบานก็นำไปใช้ประโยชน์หรือ จำหน่ายได้
3.4 จำหน่ายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากดาวเรืองเป็นพืชที่มี สารแซธโธฟีล (Xanthophyll) สูง เมื่อตากให้แห้งจะสามารถนำไปเป็นส่วนผสม อาหารสัตว์ได้ดี โดยเฉพาะอาหารของไก่ไข่ จะทำให้ไข่แดงมีสีแดงสดใสน่ากินยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีดอกสีส้มแดง
ที่มา: https://www.dmc.tv/pages/scoop/